วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

กกพ. ส่งสัญญาณค่าไฟฟ้าต้นปี 2567 จ่อปรับขึ้นทะลุเกิน 4 บาทต่อหน่วยอีกรอบ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) คาดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดแรกปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) จ่อปรับขึ้น จากปัจจัยต่างประเทศดันต้นทุนน้ำมัน, อัตราแลกเปลี่ยน และ LNG ขยับ ส่งผล Ft อาจขึ้น 5- 10 สตางค์ต่อหน่วย ชี้หากรัฐไม่มีนโยบายดูแลต่อ ค่าไฟส่อแววทะลุ 4 บาทต่อหน่วยอีกรอบ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 2567 ว่า ต้นทุนค่า Ft ยังเป็นขาขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาสงครามในต่างประเทศ เช่น สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และสงครามรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาน้ำมันดิบและค่าเงินบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 สตางค์ต่อหน่วย รวมถึงยังมีประเด็นเรื่องกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงเดือน เม.ย.2567 ตามแผนได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่เป็นไปตามแผนก็จะส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เข้ามาเสริมเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจุบันราคา LNG อยู่ที่ประมาณ 17-18 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนค่า Ft ในงวดต้นปี 2567 รวมประมาณ  5-10 สตางค์ต่อหน่วย

“ต้นทุนค่าไฟฟ้า ปัจจุบัน หากไม่ทำอะไรเลย ก็สูงกว่า 4 บาทต่อหน่วยอยู่แล้ว แต่เมื่อมีนโยบายภาครัฐเข้ามาก็ช่วยให้ค่าไฟงวดสุดท้ายของปี  2566 อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ฉะนั้น ก็ต้องรอคำนวณต้นทุนค่าไฟที่ชัดเจนอีกที ซึ่ง กกพ.จะต้องคำนวณให้แล้วเสร็จในช่วงกลางเดือน  พ.ย. 2566 นี้ และส่งข้อมูลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่เกิน 1  ธ.ค. 2566 ก่อนประกาศใช้ แต่เบื้องต้นแนวโน้มต้นทุนค่าไฟฟ้ายังเป็นขาขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนค่าไฟฟ้าในงวดต้นปี 2567 ยังได้ปัจจัยบวกจากกำลังผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนใน สปป.ลาวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หลังเกิดพายุหลายลูกส่งผลให้เขื่อนเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อกำลังผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นด้วยทำให้ต้นทุนค่าไฟถูกลง แต่การซื้อไฟฟ้าพลังน้ำก็ยังถือเป็นต้นทุนส่วนน้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้า

นายคมกฤช กล่าวด้วยว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าในงวดแรกปี 2567 จะกลับไปต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยเหมือนงวดสุดท้ายของปี 2566 ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล เพราะ กกพ.เป็นเพียงหน่วยงานกำกับดูแล มีหน้าที่พิจารณาต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยการจะกดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการเข้ามาช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน เช่น กฟผ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วย อีกทั้งต้องดูว่า กฟผ.ยังสามารถแบกรับภาระหนี้ยืดออกไปได้อีกหรือไม่ จากปัจจุบันมีภาระหนี้ที่ดูแลแทนประชาชนกว่า 1.3 แสนล้านบาท

ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 dWCijZS.jpeg MAaG61.jpeg MB9x2v.jpeg Da2r0R.png DpkFp1.jpg banner1-08.gif Dp1Qd0.png 2wk8Dt.jpg 2wcwIv.jpg ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ MEnXPR.gif