ครม. รับทราบ “มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” ตามที่คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน มุ่งเป้าช่วยนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษทั่วประเทศ 1.8 ล้านคน เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
วันที่ 7 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 รับทราบ “มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” ตามที่คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนเสนอ พร้อมให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยเป้าหมายสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของรัฐบาลที่ต้องจัดให้ประชาชนไทยได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ สนับสนุนการจัดการศึกษาที่ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา แบ่งเป็น
1. มาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ต ระยะเร่งด่วน ให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาต่ออายุมาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนออกไปอีกเป็น 1ปี สำหรับระยะกลาง ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณาขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน USO) และในระยะยาว กระทรวงศึกษาร่วมกลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวง ดีอีเอส ศึกษามาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตในระยะยาว เพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ มาตรการนี้ คาดว่าจะใช้วงเงินงบประมาณประมาณ 126 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 1,512 ล้านบาทต่อปี
2. มาตรการสนับสนุนคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อการศึกษา ระยะเร่งด่วน สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ขนาดพกพาเพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ โดยอาจมีการพิจารณาสิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ ให้กับภาคเอกชน เพื่อสร้างแรงจูงใจ ระยะกลางให้ กสศ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการสนับสนุนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ขนาดพกพา และให้ สพฐ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานตามพื้นที่ที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ รวมทั้ง กระทรวงมหาดไทย อาจพิจารณาออกระเบียบเพื่อกำหนดให้สามารถนำเงินสะสมมาใช้ในการดำเนินการเฉพาะกรณีดังกล่าวได้ ระยะยาว ศธ. พิจารณาแนวทางการขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นหลักประกันในการจัดให้มีอุปกรณ์ให้แก่นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษในการเรียนการสอนออนไลน์อย่างยั่งยืน โดยควรให้สิทธิ์แก่นักเรียนทุกคนในระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ป.1 – ม.6) และเทียบเท่าที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษที่เป็นการให้เงินอุดหนุนแก่นักเรียนโดยตรง อาจลักษณะ Voucher ผ่าน e-voucher ผ่านแอพพลิเคชันของรัฐเพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียนนำไปซื้อคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อการศึกษาได้โดยตรงตามความความต้องการของนักเรียนแต่ละคนในแต่ละดับชั้น ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 8,000 ถึง10,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียนตั้งแต่ป.1 – ม.6 และเทียบเท่าที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษประมาณ 1.6 ล้านคน ตามหลักเกณฑ์ กสศ.
สำหรับมาตรการเพิ่มเติมสำหรับครู ศธ. สนับสนุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อการศึกษาให้กับครูผู้สอน เพื่อทำให้ครูผู้สอนเข้าถึงการเรียนการสอนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเฉพาะในต่างจังหวัดหรือโรงเรียนในชนบทที่มีความขาดแคนทั้งบุคลากรงบประมาณและการเข้าถึงเทคโนโลยี
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา มุ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษทั่วประเทศ 1.8 ล้านคน ตั้งแต่ชั้นก่อนประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้น หรือปลายเทียบเท่า ตามที่คณะกรรมการฯ ได้ศึกษาข้อเท็จจริง (ปีการศึกษา 2564) ซึ่งมีเพียงร้อยละ 20 ที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ในการเรียนและร้อยละ 61 มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน สะท้อนให้เห็นว่านักเรียนจำนวนมากไม่มีความพร้อมด้านฐานะทางการเงิน ขาดแคนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการเรียนและมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่บ้านต่ำมาก สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และป้องกันนักเรียนไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกด้วย