โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ส่ง 3 นักเรียน ประกอบด้วย นายศิวัชณัฐ แสงสุวรรณ (ศีล) นายวชิรวิชญ์ อารยะสัจพงษ์ (ฝู) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และนางสาวฟ้าใส จัสมิน เฟื่องจันทร์ (ฟ้าใส) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในนามทีม DINONAUT พร้อมด้วยอาจารย์สมโชค แก้วอุทัศน์ คุณครูที่ปรึกษาชุมนุม เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระบบปฎิบัติการ Thailand Open Robotics Competition 2024 สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 รุ่น Logistics League มาครองได้สำเร็จ และเป็นทีมเดียวที่สามารถทำคะแนนได้เต็ม 90 คะแนน เมื่อวันเสาร์ที่ 30 – วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567
สมาชิกทีม DINONAUT เล่าว่า กว่าจะเดินทางมาถึงอีกก้าวความสำเร็จเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากสมัครเข้าร่วมทางออนไลน์ ก็ได้ทำแบบเสนอโครงการ (proposal) ส่งผลงานจากทั่วประเทศ และได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการ เป็น 8 ทีมสุดท้ายที่ได้เข้าร่วมอบรมที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกรุงเทพมหานคร 2 วัน ก่อนจะได้รับหุ่นยนต์พื้นฐาน 1 ตัว กลับมาที่บ้านเพื่อพัฒนาและเขียนโค้ดสำหรับทำภารกิจต่าง ๆ เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเราชนะในครั้งนี้ คิดว่าเป็นเพราะพวกเราฝึกฝนอย่างเข้มข้นจนเกิดเป็นทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คำนวณและเขียนโค้ดได้อย่างแม่นยำ ทำให้หุ่นยนต์ต้นแบบ LOGISTIC ซึ่งมีซอฟต์แวร์ ROS (ROBOT OPERATING SYSTEM – V1 – NOETIC) ควบคุมให้หุ่นยนต์ทำงานอัตโนมัติ และเดินสำรวจตามแผนที่ และทำภารกิจเคลื่อนย้ายวัตถุจากจุดหนึ่งไปอีกจุดตามลำดับได้สมบูรณ์แบบ”
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในครั้งนี้นอกจากความดีใจแล้ว ยังเป็นประสบการณ์ที่ช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจให้ทุกคนในการเรียนและพัฒนาทักษะด้านหุ่นยนต์และการเขียนโค้ดมากยิ่งขึ้น และจะเป็นผลงาน (Portfolio) สำหรับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาให้ได้เดินทางไปตามความฝันกับสิ่งที่ชอบและสนุกสนานต่อไปในอนาคต
ด้าน อ.สุเนตร ศรีบุญเลิศ รองผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ระบุว่า การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) สอดคล้องกับทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อผลิตนักเรียนให้มีความคิดสร้างสรรค์เป็นนวัตกร และสนับสนุนชมรม ชุมนุมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ SATIT KKU ROBOT & AI CLUB เพื่อลดเวลาเรียนในห้อง เพิ่มเวลารู้ในสิ่งที่สนใจนอกห้องเรียน ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว นักเรียน และโรงเรียนเชื่อมสัมพันธ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการก่อตั้งชุมนุม ส่วนโรงเรียนจะสนับสนุนดูแลในส่วนของเวลาเรียนของเด็ก ๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับการพัฒนาทักษะและความสนใจของพวกเขา และจะของบประมาณเพื่อสนับสนุนจากสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อผลักดันให้นักเรียนทั้ง 3 คน เดินทางไปแข่งขัน World RoboCup Industrial Logistics League ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป และนักเรียนทั้ง 3 คน ถือเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กคนอื่น ๆ ทั้งในและนอกโรงเรียน ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนสำคัญที่โรงเรียนได้นำมาพัฒนาหลักสูตรโดยเน้นความถนัดและสนใจของนักเรียน เพื่อมุ่งสู่การศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
สำหรับ การแข่งขันในครั้งนี้จัดโดย Imagineering Education IMAKE Innovation สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ณ ศูนย์การค้า พาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ ชั้น G กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 30 – วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567 เพื่อหาตัวแทนประเทศไทยสู่เวที World Robo Cup ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Japan Open ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยแบ่งออกเป็น 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น Logistics รุ่น @Home Education และรุ่น Junior Rescue โดยทีม DINONAUT ได้ฟันฝ่าคู่แข่งทั่วประเทศและกลายเป็น 1 ใน 8 ทีม เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ รุ่น Logistics League ก่อนจะคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 มาครองได้สำเร็จ โดยเป็นทีมเดียวที่สามารถทำคะแนนได้เต็ม 90 คะแนน และจะได้ร่วมทีมกับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นตัวแทนของไทยในการแข่งขัน World RoboCup Industrial Logistics Leagueที่ประเทศญี่ปุ่น
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ