นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสำหรับงวดเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2567 ลดลง จากการที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากงวดก่อนอยู่ที่ 35.34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เป็น 35.83 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ค่าซื้อเชื้อเพลิงถูกลง และราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) ราคาลดลงจากงวดก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู เหลือ 9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ในปัจจุบัน โดยราคาคาดการณ์เฉลี่ย Spot LNG ช่วงนี้จนถึงเดือนสิงหาคม จะมีราคาถูกลงกว่าช่วงเดือนมกราคม-เมษายน เนื่องจากความต้องการลดลง เพราะผู้ซื้อรายใหญ่ คือ ญี่ปุ่น และยุโรป มีการนำเข้า LNG เพียงพอแล้ว และมีบางส่วนที่จะส่งออกด้วย ประกอบกับจะมีก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย แปลง G1/61 เข้าระบบในช่วงเดือนเมษายน ปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ลดการนำเข้า LNG จึงมีโอกาสที่ค่าไฟฟ้าในงวดนี้จะถูกลง
“ถึงแม้ว่าในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม จะไม่มีค่า Short Fall มาช่วยเหมือนงวดเดือนมกราคม-เมษายน แต่ต้นทุนไฟฟ้าก็จะลดลงอยู่ดี จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น” นายคมกฤช กล่าว
อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้างวดหน้าจะเป็นเท่าไร จะต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลว่าจะพิจารณาเรื่องการคืนภาระค่าเอฟทีที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) รับภาระแทนประชาชนไปก่อน ประมาณ 95,777 ล้านบาท และส่วนต่างราคาก๊าซฯ ที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบกรับไว้แทนประชาชน ประมาณ 10,000 ล้านบาท จะดำเนินการอย่างไร เพราะจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้า ในงวดหน้า
นายคมกฤช กล่าวถึงทิศทางการผลิตไฟฟ้าระยะสั้นในประเทศ ซึ่งยังคงใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงหลัก ที่ขณะนี้ใช้ก๊าซฯ จากอ่าวไทย นำเข้าจากเมียนมา (ยาดานา, เยตากุน, ซอติก้า) จากพื้นที่ควบเกี่ยวไทย-มาเลเซีย (JDA), LNG สัญญาระยะยาว และ Spot LNG ซึ่งในส่วนที่จะมีปัญหาคือ ก๊าซฯ จากแหล่งยาดานา ในเมียนมา เริ่มลดปริมาณลง จึงต้องพิจารณาว่าในส่วนนี้จะนำก๊าซฯ จากแหล่งใดมาทดแทน ซึ่งอาจจะเป็นการนำเข้า LNG
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 < ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ