วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

ครม. อนุมัติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ประมาณ 1 บาท/ลิตร ตรึงไม่เกิน 30 บาท/ลิตร จนถึงหลังสงกรานต์ เริ่ม 20 ม.ค. 67 จนถึง 19 เม.ย. 67

Detail of hand filling the fuel tank of the passenger car

(16 มกราคม 2567)  นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (16 มกราคม 2567) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ประเภทอัตราตามปริมาณ (ลิตร) (ปรับลดประมาณ 1 บาท/ลิตร) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 จนถึงหลังเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 19 เมษายน 2567
 
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กค. ได้ดำเนินการมาตรการภาษี โดยการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 65 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 (ประมาณ 1 ปี 8 เดือน มีการสูญเสียรายได้ประมาณ 172,000 ล้านบาท โดยในแต่ละครั้ง ปรับอัตราภาษีลดลงแตกต่างกัน) รวม 8 ฉบับ
 
มาตรการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ผ่านการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน และที่ผ่านมา รัฐบาล ด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน (พน.) และกระทรวงการคลัง ได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร  โดยก่อนหน้านี้ กค. (กรมสรรพสามิต) ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2566 (ปรับลดประมาณ 2.50 บาท/ลิตร) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 66 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 โดยเพื่อเป็นหนึ่งในกลไกช่วยตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร  ในครั้งนี้ จึงเห็นควรดำเนินมาตรการทางภาษีต่อเนื่อง โดยการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ร่วมกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตดังกล่าวประมาณ 1 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 19 เม.ย. 67
 
ทั้งนี้ กค. ได้จัดทำประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยรายงานว่า การดำเนินการตามมาตรการภาษีดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาท/เดือน (คาดการณ์จากสถิติปริมาณการเสียภาษีในปีงบฯ 66) โดยการดำเนินการตามมาตรการภาษีในครั้งนี้จะดำเนินการเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จึงคาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ
 
“มาตรการครั้งนี้ เป็นการยืดระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านราคาพลังงานระยะสั้น อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการระยะยาวนั้น ทาง พน. ยังคงเดินหน้าอย่างเข้มข้นเพื่อที่จะ “รื้อ – ลด – ปลด – สร้าง” ด้วยการรื้อโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2567 นี้อย่างแน่นอน” รองรัดเกล้าฯ กล่าว

ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 d7zHSwy.jpeg MB9x2v.jpeg d08ssC8.jpeg DpkFp1.jpg banner1-08.gif Dp1Qd0.png 2wk8Dt.jpg 2wcwIv.jpg ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ MEnXPR.gif