วันพฤหัสบดี, 24 เมษายน 2568

องค์กรระหว่างประเทศสนใจแนวคิด สร้างคู่ซ่อมสุขภาพของไทย


เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันเกิดกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส ครบรอบปีที่ 22
มีการประชุมประจำปีของเครือข่าย สสส โลก จากประเทศต่างๆมาร่วมประชุมวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานของ สสส แต่ละประเทศ
ที่น่าสนใจคือ มีหน่วยงานระหว่างประเทศอีกหลายหน่วยงานที่มาร่วมประชุมเช่น ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก ยูเอ็นดีพี ไชน่าเมดิคอลบอร์ด ไจก้า เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพอาเซียน เป็นต้น
ที่มีหลายองค์กรระหว่างประเทศมาร่วมประชุม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ.2554 ว่าด้วยการควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCDs) โรคที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ เช่นการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา กินอาหารไม่เหมาะสม และขาดกิจกรรมทางกาย ที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลา ประมาณ 70% ของประชากรประเทศต่างๆทั่วโลก เป็นภาระต่อระบบบริการและงบประมาณด้านการรักษาสุขภาพ
และมติที่ประชุมสมัชชาฯ แนะนำให้ประเทศต่างๆจัดให้มีระบบ”นวตกรรมทางงบประมาณ” “Innovative financing for health promotion “ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ในการแก้ปัญหา NCDs กรณีการเกิดสสส. ของประเทศไทย เป็นที่สนใจของนานาชาติ ที่การเกิดขึ้นของกองทุนสสส มาจาก กรอบคิด “สร้างสุขภาพ “คู่กับ “ซ่อมสุขภาพ “

โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2537 ได้มีการค้นคว้าศึกษารูปแบบที่จะทำให้มีงบประมาณเพื่อสนับสนุนการควบคุมยาสูบและสร้างเสริมสุขภาพ ควบคู่กับการทำให้เกิดหลักประกันสุขภาพให้การรักษาแก่คนไทยทุกคนที่เจ็บป่วยสองแนวคิดนี้ ถูกผนวกเข้าด้วยกันว่า การให้หลักประกันสุขภาพ เป็นการรักษาคนที่ป่วยแล้วที่จะต้องใช้เงินจำนวนมาก รัฐบาลจึงควรจะมีการลงทุน ที่จะป้องกันไม่ให้คนป่วย หรือลดจำนวนคนที่จะป่วยด้วยการสร้างเสริมสุขภาพ/ป้องกันโรค
ซึ่งการลดจำนวนคนป่วยจากการลงทุนสร้างสุขภาพ จะลดงบประมาณที่จะต้องใช้ในการรักษา/ซ่อมสุขภาพ
แนวคิดสร้างคู่กับซ่อมสุขภาพ ได้รับการผลักดัน จนมีการผ่านกฏหมาย สสส ในปี พ.ศ.2544 และ กฏหมาย สปสช ในปีพ.ศ.2545 นี่เป็นเหตุที่หลายองค์กรนานาชาติที่กล่าวแล้วเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลไปสนับสนุนให้ประเทศอื่น ที่สนใจจะตั้งองค์กรเพื่อสร้างเสริมสุขภาพในลักษณะเดียวกันกับ สสส
ผู้อำนวยการ สสส ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรปีนี้ว่า งบประมาณที่สสสใช้ในแต่ละปี คิดเป็นสัดส่วน 0.73% ของงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพภาครัฐทั้งหมด นี่ยังไม่รวมเงินที่ประชาชนควักจากกระเป๋าตัวเองในการรักษาโรคเวลาเจ็บป่วย ซึ่งเป็นเงินอีกไม่รู้เท่าไร
งบประมาณที่สนับสนุนสสสนี้ หากนำไปเติมเป็นงบประมาณรักษาโรคตามที่บางฝ่ายเรียกร้อง ก็จะเพิ่มคุณค่าเงินได้น้อยมาก หากเทียบกับการนำไปใช้ในโครงการที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ/ป้องกันโรค
โดยเฉพาะประเทศที่ให้หลักประกันรักษาสุขภาพอย่างเช่นประเทศไทย
เวลาผ่านไปมากกว่า 20 ปี โลกยิ่งเห็น คุณค่าของ สสส ที่ คู่กับ สปสช ชัดเจนมากขึ้น จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรคที่เกิดจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เสียทั้งสุขภาพและภาระงบประมาณในการรักษาโรค


ข้อมูลจาก ศ.นพ ประกิต วาทีสาธกกิจ 9 พฤศจิกายน 2566