วันพุธ, 27 พฤศจิกายน 2567

อุทยานธรณีโคราช ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก แห่งที่สอง ชวนคนไทยร่วมภาคภูมิใจ

นายกฯ ร่วมยินดีอุทยานธรณีโคราช ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก แห่งที่สอง ชวนคนไทยร่วมภาคภูมิใจ เป็นเจ้าบ้านที่ดีพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (6 มิถุนายน 2566) เวลา 08.45 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์ เรื่อง “อุทยานธรณีโคราชได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks)” ซึ่งคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้รับรองผลการพิจารณาและเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ UNESCO อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ให้อุทยานธรณีโคราช เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่สอง โดยอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกแห่งแรกคืออุทยานธรณีสตูล จังหวัดสตูล โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม 

โอกาสนี้ Mr. Libing Wang Director UNESCO Multisectoral Regional Office in Bangkok มอบเอกสารรับรอง UNESCO Global Geopark แด่นายกรัฐมนตรี จากนั้น นายกรัฐมนตรีมอบต่อให้กับนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ต่อจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบเอกสารแสดงความยินดีให้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ในโอกาสที่อุทยานธรณีโคราชได้รับการรับรองจากยูเนสโก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยาน

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ที่ได้ร่วมมือกันผลักดันและดำเนินการให้อุทยานธรณีโคราชได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก ทั้งในด้านแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีที่มีคุณค่า ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกและนำรายได้เข้าสู่ประเทศมากยิ่งขึ้น พร้อมขอบคุณในนามประเทศไทยและในนามรัฐบาลไทย ที่ทุกฝ่ายมีส่วนช่วยดำเนินการสนับสนุนให้เป็นอุทยานธรณี (Geopark) เพิ่มขึ้นเป็นแห่งที่สอง จากที่มีอยู่แล้วเดิมคือที่จังหวัดสตูล ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ขอให้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่เร่งรัดดำเนินการด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการพัฒนาต่อยอดในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สร้างเครือข่ายท่องเที่ยว เชื่อมโยงการพัฒนาสู่ชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน พร้อมต่อยอดองค์ความรู้ด้านวิชาการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงธรณี  และขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ 

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญชวนคนไทยร่วมยินดีและภาคภูมิใจด้วยการเป็นเจ้าบ้านที่ดี สร้างความประทับใจต้อนรับนักท่องเที่ยว ขอความร่วมมือคนไทยทุกคนร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่ให้คงความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแก่คนทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการช่วยกันดูแลและพัฒนาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาและเชิงวัฒนธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ เกิดการสร้างงานใหม่ สร้างรายได้ในชุมชน ผ่านการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ได้อีกทางหนึ่งด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว

สำหรับอุทยานธรณีโคราช มีพื้นที่ครอบคลุม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอขามทะเลสอ อำเภอสูงเนิน และอำเภอสีคิ้ว รวมเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 3,167 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่บ่งบอกหลักฐานการยกตัวของแผ่นดินอีสานจนเป็นเทือกเขาหินทรายรูปสันอีโต้ที่มีความยาวและมีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นภูมิประเทศที่สวยงาม มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ช้างจำนวนสกุลมากที่สุดในโลก 10 สกุล มีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ช้างโบราณที่มีความหลากหลาย รวมทั้งการค้นพบฟอสซิลสัตว์สกุล/ชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด เช่น จระเข้ แรด ไดโนเสาร์ เต่า และลิงไร้หาง และยังมีการพบฟอสซิลไดโนเสาร์มากกว่า 1,000 ชิ้น ฟันมากกว่า 300 ชิ้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินสมัยไพลสโตซีนตอนต้นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นจำนวนมาก โดยในปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมาเป็นเมือง UNESCO Triple Heritage City คือมีพื้นที่รับรองจากยูเนสโกรวม 3 พื้นที่ ได้แก่ (1) พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช ยูเนสโกรับรองปี พ.ศ. 2519 (2) พื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ยูเนสโกรับรองปี พ.ศ. 2548 และ (3) พื้นที่อุทยานธรณีโลก ยูเนสโกรับรองปี พ.ศ. 2566

ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 DasKLf.jpg Da2r0R.png DpkFp1.jpg banner1-08.gif Dp1Qd0.png 2wk8Dt.jpg 2wcwIv.jpg


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
รีบๆเลยก่อนสิทธิ์หมด! ททท. จัดแคมเปญ “แอ่วเหนือ…คนละครึ่ง”
ททท. ผนึกกำลังพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกาศศักยภาพความพร้อมภาคเหนือ จัดงาน “เหนือพร้อม…เที่ยว” Kick off แคมเปญ “แอ่วเหนือ…คนละครึ่ง” ดีเดย์ 1 พ.ย. นี้
หนองคาย/พิธีเปิดงาน “ISAN Winter Wonderland อีสานวินเทอร์วันเดอร์แลนด์”
มาเด้อ!!ชวนนั่ง… สามล้อเรืองแสง เลาะแลงแยงเมืองหนองคาย ..
ททท. ปลุกกระแสเที่ยวภาคอีสานกับกิจกรรม อีสาน FESTI“เว้า” #เล่าเรื่องเมืองอีสาน ยกคอนเซปต์ “ประเพณีสีอีสาน วิถีแห่งศรัทธา” ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้าพื้นที่ตลอดปี 2568
ททท.ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงาน ททท. ทั้ง 8 สนง. ในภาคอีสาน พร้อมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ร่วมทำกิจกรรม CSR ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว