วันพุธ, 27 พฤศจิกายน 2567

สงกรานต์ 2566 มข.อนุรักษ์วัฒนธรรมอีสานจัด “บุญเดือนห้า แห่พุทธบูชา สมมาอาวุโส”

08 เม.ย. 2023
22174

เริ่มเทศกาลก่อนใคร มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงาน “บุญเดือนห้า แห่พุทธบูชา สมมาอาวุโส” ประจำปี 2566 อนุรักษ์วัฒนธรรมอีสานผ่านงานสงกรานต์ประเพณี

            เมื่อวันอังคารที่ 4 เมษายน 2566 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมสืบสานงานบุญประเพณีตามฮีต 12 คอง 14 ในงาน “บุญเดือนห้า แห่พุทธบูชา สมมาอาวุโส” ประจำปี 2566 นำโดยดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น  รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้อาวุโส นักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัย และชุมชนรอบรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันแต่งกายด้วยชุดผ้าไทยสีสันสดใส หลายรูปแบบมาร่วมเดินขบวนแห่ บริเวณคุ้มศิลปวัฒนธรรม (ริมบึงสีฐาน) ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 16.30 น. ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น  รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำบุคลากร นักศึกษาเดินขบวนแห่ ประกอบด้วย วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น, คณะวิทยาศาสตร์, วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ, คณะเกษตรศาสตร์, คณะพยาบาลศาสตร์, คณะสาธารณสุขศาสตร์, คณะศึกษาศาสตร์,คณะศิลปกรรมศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, คณะสหวิทยาการ, คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะเทคโนโลยี

จากนั้นมีการประกอบพิธีสืบสานตามประเพณีอีสานโดยการนำของนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ พิธีจุดธูปเทียนและกล่าวคำบูชาหลวงพ่อพระศรี 50 ปี มข.  พิธีสรงน้ำพระและสรงน้ำตราพระธาตุพนมจำลอง  พิธีสรงน้ำ พระพุทธศิลป์ ถิ่นล้านช้างร่มขาว ลำดับต่อมา รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำบุคลากร และนักศึกษาทำพิธีกล่าวคำขอขมาผู้อาวุโส “สมมาอาวุโส” รดน้ำ ขอพร และมอบของที่ระลึกแด่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้อาวุโส ก่อนจะปิดท้ายด้วยพิธีทำบุญตักบาตรดอกไม้พระสงฆ์ 9 รูป และพิธีตกแต่งเจดีย์ 12 นักษัตรตามประเพณีอีสาน

รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดี ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องการร่วมอนุรักษ์ภูมิปัญญา สืบต่อประเพณี ซึ่งปีนี้มีขบวนมาร่วมแห่กว่า 20 ขบวน และมีผู้เข้าร่วมประกวดอีก 10 ขบวน โดยทั้งหมดเต็มที่กับงานในครั้งนี้มาก

     “สงกรานต์จะสาดน้ำหรือเล่นที่ไหนก็ได้อยู่แล้ว แต่ มข.อยากเล่นสงกรานต์แบบถวิลหาอดีต ระลึกถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หาได้เพียงไม่กี่ที่แล้วในประเทศไทย”

        รศ.ดร.นิยม กล่าวอีกว่า นอกจากมีการสรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทรายแล้ว งานในปีนี้ยังมีมหรสพ “หมอลำกลอน” ซึ่งถือเป็นรากทางวัฒนธรรมอีสาน หรือใครต้องการความสนุกสนานรื่นเริงก็ร่วมรำวงย้อนยุคภายในงานได้ และไฮไลต์อีกส่วน คือ “พิธีแต่งแก้เสียเคราะห์” ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ในช่วงปีใหม่ด้วย

ขณะที่ น.ส.กานต์พิชชา ศิริโชคทวีทรัพย์ ปี 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดนางสังขารปี 2566 ยอมรับว่า แม้จะเป็นคนจังหวัดบึงกาฬ แต่ไม่เคยเห็นประเพณีสงกรานต์เช่นนี้มาก่อน จึงรู้สึกดีใจที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น “กิจกรรมเรียบง่าย แต่ทำให้เห็นประเพณีต่าง ๆ หนูรู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมขบวน มีโอกาสได้ประกวดนางสังขาน และร่วมสืบทอดประเพณีอีสานต่อไป”

ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 DasKLf.jpg 8JER4J.jpg Da2r0R.png DpkFp1.jpg banner1-08.gif Dp1Qd0.png 2wk8Dt.jpg 2wcwIv.jpg


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
นางรำนับหมื่นพร้อมใจรำบวงสรวง 10 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขอนแก่นและเฉลิมฉลองมหานครขอนแก่น ครบ 227 ปี ชวนชมทะเลธุงและเฮือนโบราณสุดชิค ในงานเทศกาลไหมนานาชาติ 67
ขอนแก่นยกเสาเอกบ้านมั่งคงศิลา แห่งแรกของภาคอีสานตามแผนพัฒนาริมทางรถไฟ นำร่อง 77 ครัวเรือน
“พงศกร” เยี่ยมศูนย์ CI ขอนแก่น ให้กำลังใจผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู นับร้อยคน ย้ำชัดรัฐบาลเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดจริงจังและต่อเนื่อง
เลือกตั้ง ทต.พระลับ สุดคึก “พงศกร” จับมือ “วัฒนา” ประกาศหนุน “พงศ์ธร” สวมเสื้อเพื่อไทย ลงป้องกันแชมป์อีกสมัย
ศึกษาศาสตร์ มข. ร่วมภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ยกร่างการจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัดขอนแก่น
ชาวขอนแก่นพร้อมใจรำอวยพรถวาย พระพรหมวชิรดิลก เจริญอายุวัฒนมงคล 79 ปี