
(มีคลิป)มข.เชิญผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศถกประเด็นความสำคัญของปัญหาภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกเดือด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรม “เสวนาการจัดการภัยพิบัติในสภาวะโลกเดือด” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแสวงหาแนวทางรับมือผลกระทบจากภาวะโลกเดือดที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวรายงาน และตัวแทนผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศทั้งด้านการเตือนภัย การบริหารจัดการน้ำ และการดูแลระบบนิเวศ พร้อมสื่อมวลชนร่วมเกาะติดประเด็นสำคัญ ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคาร 50 ปี วิศวะรวมใจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “วิกฤตโลกเดือดส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทุกภาคส่วน การบูรณาการองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาจึงเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับความท้าทายนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างเวทีเพื่อเผยแพร่ความรู้ แสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนระดับท้องถิ่นให้สามารถปรับตัวและรับมือได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศตนเพื่อสังคมด้วยการสร้างสรรค์’ (Social Devotion with Creation)”

ด้านนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติว่า “ในปัจจุบันสถานการณ์โลกของเรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่ง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงและถี่ขึ้นทั่วโลก จังหวัดขอนแก่นให้ความสำคัญกับการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทยในการเผชิญกับความท้าทายจากสภาวะโลกเดือด”

การเสวนาครั้งนี้ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับประเทศกว่า 8 ท่าน นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านระบบเตือนภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พร้อมด้วย นายพิทักษ์ ยุวานนท์ อดีตผู้อํานวยการ โครงการชลประทานนครปฐม นายโบว์แดง ทาแก้ว อดีตผู้อํานวยการ โครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา ดร.เพิ่มศักดิ์ คิดหมาย อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ปรึกษากรมชลประทาน นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ที่ปรึกษา อนุกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการจัดการภัยพิบัติระดับชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.กัมปนาท ภักดีกุล อาจารย์ประจําคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายภัทรพล ณ หนองคาย ที่ปรึกษาด้านงานซ่อม-สร้างแหล่งน้ำและโครงสร้างขนาดเล็ก อาจารย์สุภัทรดิศ ราชธา ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการจัดการภัยพิบัติระดับชาติโดยมี รองศาสตราจารย์
ดร.กัลยกร ขวัญมา อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการในเสวนาในครั้งนี้

ไฮไลท์ของการเสวนาครอบคลุมประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ภัยพิบัติและสภาวะโลกเดือดที่ส่งผลต่อภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม การบริหารจัดการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ Carbon Credit การจัดการภัยพิบัติระดับชาติด้านน้ำท่วมน้ำแล้ง และการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กสำหรับชุมชน ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญเร่งด่วนของประเทศในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตอย่างหนัก

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของภูมิภาค มุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ได้จากเวทีเสวนาครั้งนี้ ไปต่อยอดสู่การวิจัย การบริการวิชาการ และการพัฒนานโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน การผนึกกำลังกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่างๆ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อน SDG 17 (Partnerships for the Goals) เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืนสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้ปรัชญา ‘การอุทิศตนเพื่อสังคมด้วยการสร้างสรรค์’ (Social Devotion with Creation)
ภาพ-ข่าว : ชาลี พรหมอินทร์ สำนักบริการวิชาการ มข.









