OR ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วยพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ลงนามในประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการแยกทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากขยะมูลฝอยทั่วไปเพื่อนำไปบำบัดและกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดย OR พร้อมจัดตั้งจุดรับทิ้งของเสียอันตรายภายในสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 11 สถานี ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน โดยมีนางสาววรรณวิสาข์ สู่ศุภอรรถ ผู้จัดการฝ่ายบริหารความยั่งยืน และคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) พร้อมด้วยพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 50 องค์กร ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ตรีเดช กรมควบคุมมลพิษ ด้วยการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการแยกทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากขยะมูลฝอยทั่วไปเพื่อนำไปบำบัดและกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
OR มีความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังสนับสนุนและส่งเสริมการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในสังคมชุมชนมาโดยตลอดผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการแยก แลก ยิ้ม ใน พีทีที สเตชั่น ที่ช่วยส่งเสริมการคัดแยกขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ ได้ (Recycle) ออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป เพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้ OR ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วยภาครัฐและภาคเอกชนในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน โดย OR ได้จัดตั้งจุดรับทิ้งของเสียอันตรายภายในสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 11 สถานี ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้พื้นที่ใน พีทีที สเตชั่น ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในสังคมชุมชน ตลอดจนให้ผู้คนในสังคมชุมชนเกิดการรับรู้และมีแรงจูงใจในการนำขยะมาแยกภายใน พีทีที สเตชั่น อีกด้วย
ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน OR’s SDG หรือ SDG ในแบบของ OR ที่จะตอบโจทย์เป้าหมาย “G” หรือ “GREEN” ที่มุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) ในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-neutrality) ภายในปี 2030 อันจะนำไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Carbon Zero) ในปี 2050 ต่อไป