วันเสาร์, 5 เมษายน 2568

ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดร้อยเอ็ดจัดกิจกรรม ทดลองการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพื่อพัฒนายกระดับการท่องเที่ยว ที่ กู่กาสิงห์

ที่ กู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด นายเรืองศักดิ์ รัตนโภคาสถิต ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด นายอภิชาต อารีย์พัฒนไพบูลย์ นายอำเภอเกษตรวิสัย นายเก่ง แกล้วกล้า ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดร้อยเอ็ด นายสมคิด วาสนาม นายกทต.กู่กาสิงห์ ผู้นำท้องถิ่น พร้อมด้วยส่วนราชการ ประธานกลุ่มโฮมสเตย์บ้านตาหยวก บ้านปรางค์กู่ บ้านป่าเม้า บ้านกู่กาสิงห์ บ้านท่าม่วง และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมลงพื้นที่ ภายใต้โครงการโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ด้านเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และการบริการ กิจกรรมหลัก การพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวชิงอาหาร (Soft Power) จังหวัดร้อยเอ็ด

ด้วยจังหวัดร้อยเอ็ด โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดร้อยเอ็ด และมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ได้กำหนดดำเนินโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และการบริการ กิจกรรมหลักการพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Soft Power) จังหวัดร้อยเอ็ด กิจกรรมที่ 4 ทดลองการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพื่อพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Soft Power) จังหวัดร้อยเอ็ด นำเสนอภาพลักษณ์มุมมองใหม่ ที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวรวมทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและกระตุ้นให้เกิดรายได้ จากการท่องเที่ยว เกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชนในท้องที่ ตลอดจนเพื่อส่งเสริมและพัฒนา ด้านการท่องเที่ยวอย่างบูรณาการ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดร้อยเอ็ด

ดร.อัมคา แสงงาม ปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนทต.กู่กาสิงห์ ได้พาเยี่ยมชม จุดแรก ณ วัดสว่างอารมณ์ บ้านกู่กาสิงห์ ซึ่งเป็นแหล่งวัฒนธรรม เป็นชุมชนตันแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี”จุดที่ 2 วัดบูรพากู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ ศึกษาดูงานปราสาทกู่กาสิงห์ ปราสาทหินทรายสร้างเมื่อเจ้าชัยวรมัน ที่ 7 เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสานของไทย กู่กาสิงห์ ประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าอีก 2 องค์ที่ขนาบข้าง และมีมุขยื่นทางด้านหน้าเป็นห้องยาว ส่วนฐานขององค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาทรายยังคงปรากฏลวดลายสลักเป็นชั้นเป็นแนว เช่น ลายกลีบบัวและลายกนก ได้ค้นพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเทพสูงสุด (พระอิศวร) และความอุดมสมบูรณ์ตามลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย

และมีวิหารหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่าบรรณาลัย อยู่ทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ถัดออกไปเป็นคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบทับหลังอีกหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว และยังพบซุ้มหน้าบันสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายก้านขดอีกด้วย ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบนั้น มีขนาดและลักษณะเดียวกัน ฐานก่อด้วยศิลาทราย ผนังก่ออิฐมีประตูเพียงด้านหน้า ภายในมีแท่นรูปเคารพวางอยู่จากลวดลายของศิลปกรรม ดังนั้น จากแบบแผนผังและโบราณวัตถุที่พบ แสดงให้เห็นว่า กู่กาสิงห์สร้างขึ้นในแบบศิลปะเขมรที่เรียกว่า “แบบบาปวน” ในราวช่วง พ.ศ. 1560-1630 เพื่อเป็นเทวสถานอุทิศถวายแด่พระอิศวร เทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์

กิจกรรมที่วัดบูรพากู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ ได้มีกลุ่มแม่บ้านสวมชุดผ้าไหมประจำถิ่น ฟ้อนตอนรับ ด้วยบทเพลงเกษตรวิสัยไผมากะฮัก โดยการนำของนายอำเภอเกษตรวิสัย พร้อมออกบูธขายสินค้นในพื้นที่ เช่น ผ้าไหมลายเต่าทอง ข้าวหอมมะลิ ปลาแดดเดียว ผลิตภัณฑ์ชุมชน พืชผักอินทรีย์ น้ำรำชาวบ้านกู่กาสิงห์ เป็นต้น