วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงานแถลงข่าวผลสำเร็จของงานวิจัยเรื่อง “ระบบอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์” ณ ห้องสัมมนา 2 ชั้น 9 ตึกเพียรวิจิตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ปนิทัศน์ สุรียธนาภาส ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาและวิเทศสัมพันธ์ กล่าวรายงานว่า โครงการดังกล่าวได้รับสนับสนุนงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,778,963 บาท
โดยมี รศ.กิตติเวช ขันติยวิชัย อาจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ทั้งนี้ หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของคณะวิศวกรรมศาสตร์ คือ การสร้างองค์ความรู้ การวิจัย และนวัตกรรม รวมถึงการให้บริการวิชาการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน “การจัดงานแถลงข่าวครั้งนี้ เป็นการแสดงถึงผลสำเร็จของโครงการวิจัยที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ทาง กฟผ.จะสามารถนำผลสำเร็จไปประยุกต์ใช้ และวางแผนการบริหารจัดการและจัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประชาชนต่อไป”
ด้าน รศ.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการ “ระบบอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์” ต้องมีข้อมูลทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อนำเข้าสู่เครื่องมือบางอย่างให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที ในนามคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอขอบคุณการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้และสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการวิจัยในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของทั้งสองหน่วยงานร่วมกันที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ในประเทศไทยต่อไปในอนาคต
รศ.กิตติเวช ขันติยวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการวิจัย อธิบายถึง “ระบบอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์” ว่า ระบบนี้จะช่วยบริหารจัดการน้ำโดยหลีกเลี่ยงการระบายน้ำที่ต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่าง (Lower Rule Curve) หรือสูงเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบน (Upper Rule Curve) เพื่อไม่ให้นำไปสู่ความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำในปีถัดไป และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงน้ำล้นสันเขื่อนหรือการระบายน้ำ ในปริมาณมากจนเกิดน้ำท่วมด้านท้ายเขื่อน
ตลอดการวิจัย 1 ปีนี้ ทางทีมวิจัยได้จัดการระบบรับข้อมูลสถานการณ์น้ำแบบ Real-Time จากโทรมาตร เขื่อนจุฬาภรณ์และเขื่อนอุบลรัตน์ทั้งหมด 21 สถานี และระบบ SCADA ของเขื่อนอุบลรัตน์ พร้อมกับดึงข้อมูลคาดการณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า 14 วันจากกรมอุตุนิยมวิทยา และ 90 วัน จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ มาเข้าสู่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ HEC-RTS สำหรับคาดการณ์สถานการณ์น้ำด้วยการเขียนคำสั่งภาษา Python เพื่อแปลงข้อมูลเข้าไปยังแบบจำลอง ซึ่งในแบบจำลองนี้จะประกอบไปด้วยแบบจำลองทางอุทกวิทยา HEC-HMS และแบบจำลองการดำเนินการของอ่างเก็บน้ำ HEC-ResSim
หลังจากนั้นระบบจะสร้างการจำลองสภาพแบบอัตโนมัติทุกวันในเวลา 07.00 น. โดยแสดงผลบนเว็บแอปพลิเคชัน เกี่ยวกับข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ, ปริมาณน้ำ ณ สถานีโทรมาตร, ปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์, ระดับน้ำในอ่างฯ, ความจุอ่างฯ ตลอดจนรายงานแนะแนวทางการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ (Release Decision Report) ในรูปแบบตำแหน่งพิกัดบนแผนที่ แผนภูมิ รวมถึงตารางข้อมูล เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการระบายน้ำออกจากเขื่อนอุบลรัตน์ และจัดทำแผนการบริหารจัดการและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสมต่อไป นับเป็นเครื่องมือช่วยให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ บนหลักของวิชาการและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ผลการใช้งานระบบอัตโนมัติฯ โดยผู้ใช้งานของ กฟผ.ให้คำยืนยันว่า ปัจจุบันระบบดังกล่าวให้ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนอุบลรัตน์มีความแม่นยำสูงมาก ซึ่งทีมวิจัยยังได้จัดทำคู่มือสำหรับการใช้งานระบบฯ เพื่อให้กลายเป็นเครื่องมือหลักที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้สะดวก ถูกต้อง และรวดเร็ว พร้อมทั้งคาดหวังว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ จะได้มีโอกาสขยายความขอบเขตการศึกษาวิจัยออกไปให้ครอบคลุมถึงจุดเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจะยิ่งช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนทั้งจากภัยแล้งและอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ขณะที่ คุณชาณณรงค์ จันทมงคล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า “โครงการวิจัยดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้และได้ใช้งานจริงในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา พบว่ามีประโยชน์และสามารถใช้งานได้ อย่างเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในยุคปัจจุบัน ใช้เป็นแนวทางการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลดีให้ ณ ปัจจุบัน มีปริมาตรน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ 2,165 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 89 % ของความจุอ่างฯ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เพียงพอต่อทุกกิจกรรมของประชาชน ไปตลอดฤดูแล้งจนถึงต้นฤดูฝนที่จะมาถึงในปีหน้า”
สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความจุเก็บกักปกติ 2,431 ล้าน ลบ.ม. ทั้งยังเป็นเขื่อนอเนกประสงค์และเกี่ยวข้องกับผู้ใช้น้ำหลายภาคส่วน กฟผ.จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ข่าว/ผานิต ฆาตนาค
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ