วันจันทร์, 28 ตุลาคม 2567

ส.ป.ก. ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๕.๑๔ น. ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ ๘ สวนหลวงพระราม ๘ กรุงเทพมหานคร นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณ ราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร โดยเสด็จในการนี้ด้วย
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีครั้งสำคัญการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๒

1420643


สำหรับการถวายผ้าพระกฐินหลวง เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะและเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก โดยจะเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ รวมทั้งพระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯ แทนพระองค์ นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ ๑๖ พระอาราม ที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทาน คือ กรุงเทพมหานคร ๑๒ พระอาราม จ.นครปฐม ๑ พระอาราม จ.พระนครศรีอยุธยา ๒ พระอาราม และ จ.พิษณุโลก จำนวน ๑ พระอาราม
โดยการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินในปี ๒๕๖๗ นี้ กองทัพเรือจัดรูปขบวนตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยจัดรูปขบวนเรือแบ่งออกเป็น ๕ ริ้ว ๓ สาย มีกำลังพลประจำเรือเข้าร่วมฝึกซ้อมในทุกริ้วขบวน ๒,๔๑๒ นาย ใช้เรือพระราชพิธีทั้งสิ้น ๕๒ ลำ รวมถึงเรือพระที่นั่ง ๔ ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ซึ่งเป็นริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญ นอกจากนี้ มีเรืออีเหลือง เรือกลองนอก เรือแตงโม เรือกลองใน ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวน เรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

1420647

ส่วนริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ ๘ ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก ริ้วสายนอก ประกอบด้วประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ยเรือดั้งและเรือแซง สายละ ๑๔ ลำ ระยะทางจากฉนวนน้ำท่าวาสุกรีถึงฉนวนน้ำท่าหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารรวม ๓.๙ กิโลเมตร โดยมีเจ้าพนักงานเห่เรือ ๒ นาย คือ ร.ท.สุราษฎร์ ฉิมนอก และ พ.จ.อ.พูลศักดิ์ กลิ่นบัว สังกัดกรมการขนส่งทหารเรือ ใช้กาพย์เห่เรือพระราชพิธี ๔ บทประพันธ์ โดย พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ประกอบด้วยบทสรรเสริญพระบารมี บทบุญกฐิน บทชมเรือ และบทชมเมือง

1420648

ทั้งนี้ ตามโบราณราชประเพณี ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปในการต่างๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และที่เป็นการพระราชพิธี ได้ประกอบการมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย สืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ จวบจนปัจจุบัน แต่เดิมกระบวนพยุหยาตราสถลมารค (บก) หรือชลมารค (น้ำ) เป็นการเสด็จฯ เพื่อประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองเข้ามาประดิษฐาน การต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ และการพระบรมศพ เป็นต้น

1420648 1420678

ข่าว/ภาพ :
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ขอขอบคุณ : ที่มาข้อมูล
นสพ.ไทยโพสต์ออนไลน์