เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2567 เวลา 09.00 น.ที่ ห้องสันตรัตน์ โรงแรมตักสิลา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายวิบูลย์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการมหาสารคาม เป็นประธานเปิด การจัดฝึกอบรมเกษตรกร เรื่อง “กลยุทธ์และเทคโนโลยีไม่เผาตอซังในนาข้าว” โดยองค์กร วินร็อคอินเตอร์แนชั่นแนล เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา โดยดำเนินโครงการเรนในประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม จัดการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรูให้แก่เกษตรกร โดยมีนางสาวจิราภรณ์ โชติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและการเงิน โครงการเรน พร้อมดวย รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ผู้ประสานงานโครงการ Chi river No Burn มีหัวหน้าส่วนราชการ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรในพื้นที่จำนวน 150 คน เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้
ทางด้าน นายวิบูลย์ แววบัณฑิต ผวจ.มหาสารคาม กล่าวว่าขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกอำเภอเดินหน้าแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน การเผาต่อซัง และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในรูปแบบเชิงรุก โดยไม่ต้องรอให้มีการเกิดไฟแล้วจึงเข้าไปแก้ปัญหา แต่ให้ทุกฝ่ายเข้าไปบริหารจัดการเพื่อลดปัญหาให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดในทุกมิติ โดยในส่วนของพื้นที่ป่าก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปหาวิธีลดความจำเป็นที่จะต้องชิงเผา เช่น การเอาเชื้อเพลิงออกจากป่า หรือการเอาเศษใบไม้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งเสริมให้เกษตรกรและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่และจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เกิดความร่วมมือและเครือข่ายความร่วมมือในชุมชน ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“จังหวัดมีการส่งเสริมและพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรระบบการผลิต และการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร มีความตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือเพื่อบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย จัดการวัสดุเหลือใช้และผลพลอยได้จากการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียและต้องทำลายทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ อาทิ ฟางข้าว ตอซังข้าว ใบอ้อย ชังข้าวโพด เศษเหลือจากการแปรรูปผลผลิตต่าง ๆ หรือหากมีความจำเป็นจะต้องเผาก็ต้องมีการลงทะเบียนเพื่อสำรวจว่ามีคนยื่นขอทำการเผาแล้วกี่ราย กี่ไร่ จากนั้นลงพื้นที่ไปดูว่า ที่ยื่นขอมานั้นจำเป็นต้องเผาจริงหรือไม่ แล้วเข้าไปพูดคุยเจรจาหาทางช่วยเหลือเพื่อลดความจำเป็นที่ต้องเผาให้เหลือน้อยที่สุด”
นางสาวจิราภรณ์ โชติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและการเงิน โครงการเรน กล่าวว่า โครงการไม่เผาในลุ่มน้ำชี นี้ จะทำการอบรมแกนนำเกษตรกรระดับจังหวัดๆละ 100 คน รวม 400 คน และจะอบรมเกษตรกรในพื้นที่อีก 16 อำเภอๆละ 50 คน รวม 800 คน โดยเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ การไม่เผาตอซังข้าว นำขยายผลไปยังเกษตรกรท่านอื่นๆ รวมแล้ว 20,000 คน ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรเป็นอย่างดี เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการไม่เผาแล้วใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลาย แล้วจึงไถกลบ
ด้านรศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ผู้ประสานงานโครงการ Chi river No Burn กล่าวว่า หลังจากการอบรมให้ความรู้แล้ว เกษตรกรก็จะได้ขยายผลไปยังเพื่อนเกษตรกร ไม่เผาตอซังและมีการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายเกษตรกรที่ผ่านการอบรมระดับจังหวัด และหากสามารถขยายผลไปยัง 30 คนแรกของแต่ละจังหวัด จะได้รับรางวัลเป็นบัตรกำนัล (วอยเช่อร์) มูลค่า 10,000 บาทต่อคน ที่สามารถไปแลกปัจจัยการผลิตจากหน่วยงานที่ทางโครงการได้ประสานงานไว้ รวมแล้วคิดเป็น 120 รางวัล คิดเป็นมูลค่า 1,200,000 บาท
นอกจากนี้ หลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะมีการประกวดว่า ชุมชน หมู่บ้านไหนมีการประกวดการจัดการแปลงนาโดยไม่เผาตอซังดีเด่น จังหวัดละ 3 รางวัล รวม 12 รางวัล ขณะเดียวกัน มีการสนับสนุนการทำแปลงสาธิตไม่เผาตอซังและใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย จำนวน 40 แปลง ซึ่งทางโครงการจะสนับสนุนจุลินทรีย์และค่าการเตรียมดินทั้ง 40 แปลง (ค่าไถดะ ไถพรวน) สิ่งเหล่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งของโครงการที่ประสงค์ให้เกษตรเปลี่ยนทัศนคติไม่เผาตอซังด้วยการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ