ส.ป.ก. ร่วมวางพวงมาลา น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ “วันนวมินทรมหาราช” ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๗ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๖.๓๐ น. นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมด้วย นายปรีชา ลิ้มถวิล รองเลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นางสาวอมรรัตน์ แขวงโสภา ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง นายสุริยะ ลิภตะไชยโย รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ และคณะ ร่วมวางพวงมาลา
เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
เนื่ิองในวันนวมินทรมหาราช วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๗
ณ บริเวณอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
๑๓ ตุลาคม "วันนวมินทรมหาราช" เป็นปีที่ ๘ ของวันสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๙ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณา และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๖ ได้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ ๑๓ ตุลาคมของทุกปี ว่า "วันนวมินทรมหาราช" ซึ่งแปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์มหาราช ผู้ยิ่งใหญ่ (รัชกาลที่ ๙ )
ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ มีเนื้อที่ ๒๗๙ ไร่ เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะเป็นพื้นที่แลนด์มาร์ค สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ใน ๙
เรื่องน่ารู้ ของ “อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙” สวนสวยกลางกรุงเทพมหานคร ใต้ร่มพระบารมีที่เป็นมากกว่าสวนสาธารณะทั่วไป คือ
๑. จากอดีตสนามม้าสู่ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ สร้างบนพื้นที่อดีต “สนามม้านางเลิ้ง” ซึ่งเป็นที่ดินในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้สร้างเป็นสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชน
๒. สวนสวยขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ : อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ มีพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ ๒๗๙ ไร่ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่อีกแห่งในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในรองจากสวนลุมพินี และสวนเบญจกิตติ
สวนแห่งนี้เริ่มพัฒนาแบบตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๖๑ คาดว่าจะสร้างเสร็จภายใน พ.ศ. ๒๕๖๗
๓. แนวคิดป่าและน้ำ : อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ซึ่งทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานอุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ผ่านองค์ความรู้เรื่อง “ป่าและน้ำ” ซึ่งนำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวนแห่งนี้
๔. สวนสมัยใหม่ : อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ เป็นสวนสาธารณะที่ออกแบบตามแนวคิดของสวนสมัยใหม่ หรือ “Modern Park” ที่นอกจากจะออกแบบอย่างทันสมัยสวยงาม มีแนวคิดสื่อความหมายชัดเจน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการออกแบบสวนแห่งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่เชื่อมโยงวิถีความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติไว้ด้วยกันน่าสนใจอย่างยิ่ง
๕. จุดเด่นตามรอยพ่อ : ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ จึงมีแนวคิดในการออกแบบของสิ่งต่าง ๆ ภายในสวนแห่งนี้ให้เกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยนำ
- “พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๙” ประดิษฐานอยู่กลางสวนซึ่งถือเป็นหัวใจและศูนย์กลางของสวนสาธารณะแห่งนี้
- “สะพานหมายเลข ๙” ที่เป็นเส้นทางเดินภายในสวนนำสู่ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๙
- “สะพานหยดน้ำพระทัย” ที่สื่อให้เห็นถึง น้ำพระราชหฤทัยดั่งสายน้ำที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี สะพานที่ออกแบบอย่างสวยงาม โดยเฉพาะยามสะท้อนเงาจากแผ่นน้ำ
- “สะพานไม้เจาะบากง” เป็นการจำลองสะพานไม้เจาะบากง จังหวัดนราธิวาส สะพานที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จไปทรงงาน บริเวณสะพานมีท่าน้ำ น้ำตกและลำธารจำลองตามแบบป่าฝนเขตร้อนที่ออกแบบอย่างสวยงาม
นอกจากนี้ ยังมี “สระน้ำรูปเลข ๙” และ “สวนป่าธรรมชาติ” ที่สอดรับกับแนวคิดเรื่องป่าและน้ำของอุทยานฯแห่งนี้
๖. แก้มลิงแสนสวย : สระน้ำรูปเลข ๙ ไทย ที่เป็นหนึ่ง จุดเด่นของอุทยานฯแห่งนี้ นอกจากออกแบบอย่างสวยงาม เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ยังมีความสำคัญคือ เป็นพื้นที่รองรับน้ำ หรือ “แก้มลิง” ในยามวิกฤตจากอุทกภัยอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ โดยสามารถผันน้ำเชื่อมโยงกับคลองเปรมประชากรที่อยู่ด้านนอกของอุทยานฯ แห่งนี้
๗. แหล่งศึกษาเรื่องน้ำ : ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ ยังสะท้อนแนวคิดหลักด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการทำพื้นที่ชุ่มน้ำ ปลูกพืชชุ่มน้ำ พืชกรองน้ำ พืชบำบัดน้ำ มีบ่อเลี้ยงปลานิล ฝายชะลอน้ำ และกังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
๘. สวนป่าธรรมชาติ : เป็นส่วนเชื่อมโยงของแหล่งศึกษาเรื่องน้ำ โดยอุทยานฯ แห่งนี้ มีการปลูกต้นไม้ใหญ่ให้สวยงามร่มรื่นถึงราว ๔,๕๐๐ ต้น ในลักษณะของสวนป่าธรรมชาติ และปลูกไม้ที่มีความหมายและมีประโยชน์ อาทิ ปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง, ต้นไม้โตเร็วเพื่อสร้างร่มเงา ต้นไม้ประจำจังหวัด ไม้หายาก รวมถึงมีการทำเกษตรทฤษีใหม่เพื่อให้ผู้มาใช้สวนแห่งนี้ได้รับความรู้ในหลากหลายมิติ อีกทั้งยังได้รับความเพลิดเพลินต่าง ๆ จากธรรมชาติภายในสวนแห่งนี้
๙. สวนแห่งนี้ เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ : อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ ๙ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นมากกว่าสวนสาธารณะทั่วไป เพราะที่นี่เป็นสวนสาธารณะแสนสวย เป็นสวนป่าธรรมชาติในลักษณะของพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ออกกำลังกาย เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นพื้นที่แลนด์มาร์กสำคัญให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้สำคัญใต้ร่มพระบารมี “พ่อของแผ่นดิน” ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ข่าว/ภาพ : สุริยะ ลิภตะไชยโย กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักบริหารกลาง ส.ป.ก.
ที่มาข้อมูล :
ขอขอบคุณ
นสพ.ไทยโพสต์ออนไลน์