(16 สิงหาคม 2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนกำลังนิยมใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายมีการดัดแปลงรูปลักษณ์ภายนอกของบุหรี่ไฟฟ้าให้มีความน่าสนใจหรือผสมยาเสพติดประเภทอื่นเข้าไปในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย ทำให้เกิดอันตราต่อสุขภาพของเด็ก เยาวชน และประชาชนเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการป้องกันสุขภาพของประชาชนที่เกิดจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กรมศุลกากร โดยนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้ขานรับนโยบายและกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดกวดขันในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิด ด้วยการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่วนควบอย่างจริงจัง เด็ดขาด และต่อเนื่อง รวมถึงบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยให้เจ้าหน้าที่ตามด่านศุลกากรในพื้นที่ ตรวจเข้มกับสินค้าทุกประเภทที่อาจมีการซุกซ่อนบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในราชอาณาจักร ทางตู้สินค้าและพัสดุไปรษณีย์ รวมถึงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสืบสวนหาข่าวลักลอบการนำเข้า นอกจากนี้ ยังให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรลงพื้นที่ตรวจเข้มร้านค้า โกดัง ที่มีการข่าวแจ้งว่าอาจมีการลักลอบจำหน่ายหรือเก็บบุหรี่ที่ไม่เสียภาษี บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ อีกด้วย
ในระหว่างวันที่ 1 – 15 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ด่านศุลกากรสงขลา ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม ได้ออกปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสินค้าที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร ด้วยการลงพื้นที่เข้าตรวจค้นพัสดุในบริษัทขนส่งเอกชนจังหวัดสงขลา ผลการตรวจค้น พบบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 780,000 มวน มูลค่า 3,900,000 บาท บุหรี่ไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 3,960 ชิ้น มูลค่า 680,000 บาท และบารากู่ จำนวน 70 กิโลกรัม มูลค่า 70,000 บาท รวมมูลค่าทั้งหมด 4,650,000 บาท ซึ่งบุหรี่ต่างประเทศมิได้ปิดอากรแสตมป์และไม่ปรากฏหลักฐานในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ส่วนบุหรี่ไฟฟ้าและบารากู่เป็นของต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นภัยต่อสังคม การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 245 มาตรา 246 และมาตรา 247 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับสถิติในการจับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบนำบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า เข้ามาในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 15 สิงหาคม 2567 มีดังนี้ บุหรี่ จำนวน 1,731 คดี มูลค่า 176,554,369 บาท และบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า จำนวน 326 คดี มูลค่า 86,848,105 บาท รวมทั้งสิ้น 2,057 คดี ปริมาณ มูลค่า 263,402,474 บาท
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ