
มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม จัดโครงการพัฒนาพื้นที่สวนป่า (ฟื้นฟูป่า) ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน และ รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อมกล่าวรายงานโครงการ ณ บริเวณหมู่บ้านมอดินแดง (ริมรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่นฝั่งประตูมอดินแดง) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ (Great Place to Live) สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นชุมชนสีเขียว (Green Society) มาอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับการสงวนและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลรักษาไม้ดั้งเดิม และไม้ที่จำเป็นต่อการอนุรักษ์ไว้ หวังว่าจะสร้าง University Forest เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มออกซิเจนให้สังคมเมือง ลดโลกร้อน โดย กองสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม ได้จัดเตรียมกล้าไม้ กว่า 2,000 ต้น อาทิ ต้นยางนา ต้นสัก ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นคูน เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันปลูก เพื่อคืนสภาพพื้นที่ สีเขียวบริเวณหมู่บ้านมอดินแดง และบริเวณสวนป่าหมู่บ้านศูนย์แพทย์ 7 (ตรงข้ามอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร) เพราะเป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ต่างเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน ในอนาคตมหาวิทยาลัยจึงมีแผนและนโยบายที่จะคืนพื้นที่สภาพป่าโดยรอบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เป็นพื้นที่ป่าดั้งเดิมที่เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ และบริหารจัดการระบบนิเวศป่าไม้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ยั่งยืนต่อไป

รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สืบเนื่องจาก สภาพป่าไม้ดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มมีความเสื่อมโทรมซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ศัตรูพืช วัชพืชและการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ กองสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม ได้ตระหนักถึงการจัดการพื้นที่สวนป่าอย่างยั่งยืน การฟื้นฟูความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพิ่มศักยภาพการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นละอองในอากาศ จึงได้จัดทำโครงการ “พัฒนาพื้นที่สวนป่า” ขึ้น โดยการมีร่มของต้นไม้อุณภูมิใต้ต้นไม้สามารถมีอุณหภูมิที่ลดลงได้ถึง 7 องศา ได้ในทันที โดยไม่เปลืองไฟเปิดแอร์ ฉะนั้นบุคลากรนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้เข้าร่วมกิจกรรม ในครั้งนี้ สอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2567 – 2570 ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 7 สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ (Great Place to Live) วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่ 1 การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Sustainable Environmental conservation and protection)

ด้าน นายนราวิชญ์ เต็งผักแว่น ชั้นปี 3 สาขาสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 องศา นั่นหมายความว่าโลกจะไม่กลับไปอุณหภูมิเท่าเดิมอีก ผลคือเราทั้งหมดทุกคนในโลก ใช้ชีวิตลำบากขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมต้องเปิดแอร์พัดลมระบายอากาศเครื่องจักรแรงขึ้น เปลืองไฟมากขึ้น รถยนต์ใช้แอร์มากขึ้นน้ำมันเปลืองมากขึ้น เกิดมลพิษ ทุกคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆแล้ว เรื่องมลพิษ ต้นไม้ อากาศ สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ส่งผลกระทบต่อเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ฉะนั้นการปลูกต้นไม้จะช่วยลดอุณภูมิโลกได้ดีที่สุด ทำคนละไม้คนละมือ มองเห็นความสำคัญ ช่วยกันปลูกวันนี้ลูกหลานเราในวันหน้าจะมีโลกที่น่าอยู่ขึ้น”
ภาพ-ข่าว/ เบญจมาภรณ์ มามุข









