(18 ธันวาคม 2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด ไฟฟ้าสีเขียว เพื่อสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และลดมลพิษ ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศไทย (FDI) ให้เพิ่มมากขึ้น เสริมสร้างเศรษฐกิจแบบ “ซีโร่คาร์บอน”
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น และได้ดำเนินการผลักดันนโยบายด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยจากเดิมอยู่ที่ 28% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำประเทศไทยมีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด 100% (RE100) มากถึง 12,000 เมกะวัตต์ (Megawatt : MW) โดยแผน PDP ฉบับใหม่นี้จะประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2567
นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะใช้กลไก Utility Green Tariff (UGT) ซึ่งเป็นกลไกที่ส่งเสริมการนำพลังงานไฟฟ้าสะอาดไปใช้กับภาคอุตสาหกรรม โดยประเทศไทยจะนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ Feed-in Tariff (FiT) พ.ศ. 2565 – 2573 จำนวนกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ที่รัฐได้รับสิทธิ์ในใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) มาเป็นองค์ประกอบหลักของกลไกนี้ โดยมีการขายไฟฟ้าพร้อมใบรับรองฯ (REC) สามารถตรวจสอบย้อนหลัง (Traceable) ได้ถึงผู้ผลิต แหล่งผลิต สร้างความมั่นใจว่าไม่มีการปล่อยคาร์บอน 100% โดยที่ภาคอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานในระยะยาว และได้ใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บรรลุเป้าหมายและสอดคล้องกับนโยบายพลังงานไฟฟ้าสะอาดที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อน ซึ่งในอนาคตจะมีปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้น
“รัฐบาลมุ่งหน้าสนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด ซึ่งนอกจากจะเป็นพลังงานที่ยั่งยืน แทบไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ยังมีต้นทุนด้านพลังงานในระยะยาวที่ต่ำอีกด้วย โดยที่ผ่านมารัฐบาล ได้ดำเนินการเจรจากับบริษัทต่างๆ พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงศักยภาพด้านการผลิตของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการที่ประเทศไทยมีระบบพลังงานไฟฟ้าที่เสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาด และราคาถูก ถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะช่วยดึงดูด การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเนื่องจากมีความยั่งยืนทางพลังงานสูง ซึ่งจำเป็น และสอดคล้องกับการทำงานของบริษัทชั้นนำ เช่น กลุ่มธุรกิจดาต้าเซนเตอร์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตรถ EV โรงงานผลิตไมโครชิป รวมถึงกลุ่มธุรกิจอื่นที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดำเนินการตามเป้าหมาย เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากที่สุด” นายชัย กล่าว
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ