วันศุกร์, 10 พฤษภาคม 2567

มข.ร่วมพัฒนา อ.อุบลรัตน์ สู่จุดเช็กอินท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพ

01 ธ.ค. 2023
463

สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ จัดโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพขึ้น ณ บ้านโนนสะอาด ตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อพัฒนารูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสุขภาพ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการ การเกษตร วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน  โดยมี ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ นายกานต์ ทองเสน นายอำเภออุบลรัตน์  ศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเปิดโครงการ โดยมีนักท่องเที่ยวกว่า 200 คน จากหน่วยงานราชการ เอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมด้วย เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 

ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการวันนี้เป็นโครงการที่บูรณาการหลาย ๆ โครงการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าด้วยกัน สร้างสรรค์เป็นกิจกรรมมากมายเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่น่าประทับใจ ทั้งการปลูกผักอินทรีย์ วิถีชีวิตประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว ได้รับประทานอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น รวมไปถึงพื้นที่จัดงานที่สวยงาม อากาศเย็นสบาย

“เชื่อว่าโครงการที่บูรณาการหลายศาสตร์ในลักษณะนี้จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ย่อมมีการจับจ่ายที่มากขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้น และจะนำไปสู่ความมั่นคงของชาวบ้านในระยะยาว ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศนั่นเอง”

ขณะที่ นายกานต์ ทองเสน นายอำเภออุบลรัตน์ กล่าวว่า อำเภออุบลรัตน์วางแนวทางพัฒนาขับเคลื่อนอำเภอไว้ 4 ท. ประกอบด้วย ท ท่องเที่ยว มุ่งเน้นการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวให้น่าสนใจ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น  2 ท ท่องธรรม มุ่งเน้นการพัฒนาสถานที่สำคัญทางศาสนา ให้เป็นที่รู้จัก 3 ท ท่องการศึกษาและวัฒนธรรม มีเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถมาศึกษาเรียนรู้แหล่งเรียนรู้ อาทิ ทุ่นลอยน้ำ ท้องฟ้าจําลอง และเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนได้สุดท้าย  ท.ท่องสินค้าและบริการ การหาแนวทางส่งเสริมสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น โดยนําการดำเนินการของ 3  ข้อข้างต้น มาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างสินค้าและบริการ

“วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทุกท่านได้ให้เกียรติเดินทางมาในพื้นที่ของเรา ขอบคุณมหาลัยขอนแก่นที่ได้มีการขับเคลื่อนโครงการนี้ ช่วยให้พี่น้องเราเกิดความรู้ใหม่ ๆ สามารถปรับพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบเพื่อให้เกษตรกรได้นําไปต่อยอดนําไปพัฒนาจากสิ่งเดิมที่เคยทำ”

ด้าน ศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กิจกรรมต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ เป็นต้นแบบการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ ทดลองทำด้วยความสนุกสนาน มีการพัฒนาพื้นที่แบ่งตามกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การชมพื้นที่แปลงนาข้าว 5 สี   รูปตราสัญลักษณ์ครบรอบ 60 ปีมหาวิทยาลัยขอนแก่น การเรียนรู้พื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์ที่มีพืชพันธุ์มากมายทั้ง ผัก ไม้ผล ไม้เลื้อย ไม้ดอก และพืชสมุนไพรพื้นถิ่น

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังได้รับชมการแสดงฟ้อนรำ พร้อมเรื่องเล่าที่ลานแสดงกิจกรรม ตามด้วยพิธีกรรมเกี่ยวกับพิธีปลงข้าว ความผูกพันของวัฒนธรรม วิถีชีวิตคนอีสาน การหว่านกล้า ปักดำ ลงแขกเกี่ยวข้าว นวดข้าว ตำข้าว และสามารถเดินเยี่ยมชมซุ้มกิจกรรมสาธิตผลผลิตภัณฑ์จากข้าว และ ผลิตภัณฑ์ชุมชน ชมและร่วมทดลองทำเมนูอาหารแปรรูปจากข้าว ข้าวจี่ ข้าวโป่ง ข้าวต้มมัด ข้าวต้มหัวหงอก ขนมจีน ผลิตภัณฑ์จักสานจากฟางข้าว รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนจากวัตถุดิบพื้นถิ่นอีกด้วย

“โครงการนี้เป็นรูปแบบใหม่ที่บูรณาการทุกส่วน โดยเน้น 4 อ. คือ อาหาร ซึ่งเป็นอาหารอีสานที่ใช้ผักออร์แกนิคจากแปลง, อารมณ์ มีการแสดงสวยงามรอต้อนรับนักท่องเที่ยว, ออกกําลังกาย มีพื้นที่สวน ทุ่งนาให้ทุกคนได้เดินออกกำลังกาย พูดคุยกันได้ และอากาศ เย็นสบายให้ทุกคนได้มาสูดอากาศธรรมชาติ จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพด้วยกัน”

คุณฐานิศร์ ณ สงขลา อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ประเทศบาห์เรน กงศุลใหญ่ เมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย ผู้เข้าร่วมโครงการในฐานะนักท่องเที่ยวในโครงการฯ เปิดเผยว่า การได้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้รู้สึกประทับใจที่ได้มาสัมผัสวิถีชีวิตทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย ที่ปัจจุบันกําลังได้รับความนิยมในหลายประเทศ

“เมื่อเห็นวิธีการปลูกผักแบบยกแปลง และการปรุงดิน ปลูกบนโต๊ะ ใช้เวลาเดือนเดียวมีผลผลิต สามารถทําได้หลายครั้ง การจัดกิจกรรมในลักษณะนี้จึงเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น ควรจะส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ ให้รู้จักกันในวงกว้าง เพราะตอนนี้รัฐบาลกําลังสนับสนุนส่งเสริมเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ก็เป็นการนำเสนอวิถีชุมชน เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เช่นเดียวกัน สามารถต่อยอดไปได้หลายอย่าง ทั้งเรื่องของเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และ SME”

การท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตในท้องถิ่นนับเป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นทุกปี มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยสองสถาบันฯ ดังกล่าว จึงร่วมกันจัดโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพขึ้น ในพื้นที่แห่งนี้ เพื่อพัฒนารูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสุขภาพ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการหลายศาสตร์ทั้งการเกษตร วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน กลายเป็นจุดแข็งของแหล่งท่องเที่ยวลักษณะนี้ และเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น ที่สำคัญจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับหลายคนอาจกำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพ ในวันหยุดพักผ่อนหลังลุยงานหนักมาตลอดทั้งปี

ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 dWgJ6WZ.jpeg MAaG61.jpeg MB9x2v.jpeg Da2r0R.png DpkFp1.jpg banner1-08.gif Dp1Qd0.png 2wk8Dt.jpg 2wcwIv.jpg ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ MEnXPR.gif


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดแล้ว งานแสดงนวัตกรรมไบโอเทค เครื่องมือและห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เชื่อผลักดันตลาดได้กว่า 15% รวมมูลค่า 30,000 ล้านบาท
กกต.หวั่นตรวจสอบคุณสมบัติ สว.ไม่ทันภายใน 7 วัน หลังพบคนสนใจสมัครเลือก สว.ปีนี้คึกคัก เดินหน้าติวเข้มผู้ตรวจการณ์เลือกตั้งภาคอีสาน คุมเข้มกระบวนการคัดเลือกให้เป็นไปอย่างรัดกุมและโปร่งใส
สำนักบริการวิชาการ มข. เดินหน้าต่อเนื่อง หารือร่วมกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาฯ สำหรับผู้พิการ
มข. ลงนามกับ BAFS ร่วมขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน
ผ้าไหมมัดหมี่ลายขันหมากเบ็งพิธีผูกเสี่ยว คว้าชนะเลิศ การประกวดสุดยอดผ้าประจำปี 67 ตอกย้ำเมืองหัตถกรรมโลกและผ้าไหมมัดหมี่ ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของประเทศไทย
สำนักบริการวิชาการ มข. เสริมทักษะการไกล่เกลี่ยฯ ลดข้อพิพาททางการแพทย์และสาธารณสุข รุ่นที่ 6