จากความก้าวหน้าด้านระบบการขนส่งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น การขนส่งทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจนการขนส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ สัตว์เลี้ยง และการคมนาคมขนส่งของประชาชนคนไทย กอปรกับการที่รัฐบาลมีนโยบายด้านการจัดสรรระบบขนส่งสาธารณะซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการเดินทางและการขนส่งอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยระบบรถ ราง การเดินเรือ ฯลฯ ซึ่งเดินทางด้วยระบบรางและการขนส่งจำเป็นต้องมีความปลอดภัย เพื่อป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงความรวดเร็ว ตรงต่อเวลา ในกรณีของการขนส่งสินค้าที่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา เช่น ผลไม้ สัตว์เลี้ยง ซึ่งหากคลาดเคลื่อนกว่าที่กำหนด อาจทำให้เกิดความสูญเสียขึ้นได้ รวมถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านของผู้ประกอบการ และประชาชนที่มีความประสงค์ที่จะเดินทาง ดังนั้น การเดินทางและการโดยสารด้วยระบบรางและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพนับเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในประเทศไทยด้วย
อาจารย์ปริญญา กิตติสุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะระบบรางและการขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา เปิดเผยว่า คณะระบบรางและการขนส่ง มทร.อีสาน เป็นหน่วยงานหนึ่งในกลุ่มยุทธศาสตร์หลักของ มทร.อีสาน ซึ่งมีหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิตด้านระบบราง อากาศยานและการขนส่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการผลิตและพัฒนาผลงานวิจัย นวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ใหม่และเทคโนโลยีใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการให้บริการวิชาการที่หลากหลาย และเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านระบบราง อากาศยานและการขนส่ง ตลอดจนสนับสนุนการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม ของสังคมไทย และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมพร้อมเปิดพื้นที่ในการพัฒนากำลังคนด้านระบบรางที่มีความเชี่ยวชาญที่มีสมรรถนะสูง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางรางร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานด้านการศึกษาต่างๆ อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท CRSC International Company Limited ฯลฯ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน ฉบับที่ 4 ระยะ 5 ปี(พ.ศ.2565-พ.ศ.2569) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน ได้มีนโยบายในการขับเคลื่อนกำลังพลด้านระบบรางและการขนส่ง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยการสนับสนุนทั้งด้านนโยบาย การฝึกอบรม การเข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะในด้านการพัฒนากำลังคนที่จะเป็นบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญ จำเป็นจะต้องมีทั้งการสอนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดย มทร.อีสาน ได้รับเกียรติจากนายศัลยวิทย์ อภิชาตะพงศ์ วิศวกรอำนวยการศูนย์บำรุงรักษาส่วนกลาง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ คุณณัฐพล ธีระธนา (Signaling Specialist) บริษัท CRSC International Company Limited ที่เปิดพื้นที่ให้ มทร.อีสาน นำนักศึกษาและคณาจารย์ มทร.อีสาน และ ครูแผนกวิชาช่างเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี เข้ารับการอบรมระบบอาณัติสัญญาณรถไฟ ในหัวข้อ “การออกแบบระบบ Interlocking and Control Table” ณ บริษัท CRSC Asia-pacific regional center, Bangkok พร้อมศึกษาดูงานที่สถานีรถไฟเชียงราก
อ.ปริญญา กล่าวต่อว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้นักศึกษาได้รับความรู้เกี่ยวกับ Interlocking ซึ่งเป็นระบบบังคับสัมพันธ์ที่มีความปลอดภัยสูง โดยทำหน้าที่รับค่าต่างๆจาก Wayside Equipment เช่น เสาสัญญาณ วงจรไฟตอน (track circuit) ซึ่งเป็นวงจรไฟฟ้าสำหรับตรวจสอบความเคลื่อนไหวของขบวนรถไฟ ประแจกลไฟฟ้าที่ใช้หลักการของมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อสับรางจากสถานี ซึ่งมีทั้งควบคุมด้วยรีเลย์ และ คอมพิวเตอร์ เพื่อทราบข้อมูลและตำแหน่งของขบวนรถไฟ Control Table เป็นการออกแบบส่วนควบคุมการเดินรถไฟให้อุปกรณ์ wayside equipment ทำงานสัมพันธ์กัน ซึ่งการเรียนรู้ระบบ Interlocking and Control Table ในครั้งนี้จัดอยู่ในรายวิชาอาณัติสัญญาณระบบราง ของนักศึกษาวิศวกรรมระบบรางชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมาก เนื่องจากการอบรมครั้งนี้นักศึกษาและอาจารย์ได้รับความรู้ จากการบรรยายที่ใกล้ชิด และการถามตอบข้อสงสัยพร้อมแนะแนวทางในการทำงานจากบริษัทผู้ออกแบบและพัฒนาระบบโดยตรงจากบริษัทชั้นนำของประเทศจีน
“โชค” นายศุภกร แก้วจอหอ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมระบบราง ชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ ซึ่งหากเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว จะไม่สามารถเข้าใจอย่างถ่องแท้หรือเห็นภาพการทำงานจริงของระบบอาณัติสัญญาณรถไฟได้ เพราะมีการทำงานที่ซับซ้อน ต้องมีสมาธิ มีความเข้าใจและได้สัมผัสจึงจะจดจำได้ดีและสามารถนำไปปฏิบัติได้ในการทำงานในอนาคต และผมมาที่บริษัท CRSC Asia-pacific regional center, Bangkok และสถานีรถไฟเชียงราก เป็นครั้งแรก ประทับใจมากครับ รู้สึกตื่นเต้น เสมือนว่าได้อยู่ในสถานที่ทำงานจริงแล้ว มีแรงบันดาลใจในการทำงานด้านระบบรางในอนาคตครับ
อย่างไรก็ตาม จากแผนพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทยยังมีการขยายเส้นทางการเดินรถไฟทางคู่สายใต้ รถไฟความเร็วสูงสายอีสาน ตลอดจนเส้นทางอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งมีโครงข่ายรถไฟรวมกว่า 4,044 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 47 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีการวางแผนพัฒนาระบบรถไฟทางคู่และเพิ่มทางรถไฟสายใหม่ โดยเรียงลำดับความสำคัญ ได้แก่ ทางคู่ระยะเร่งด่วน ทางคู่ระยะที่ 2 ทางรถไฟสายใหม่ และทางรถไฟสายใหม่ระยะถัดไป โดยโครงการรถไฟสายอีสานที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 นี้มีทั้งสิ้น 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง นครราชสีมา – หนองคาย คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2571 ประกอบไปด้วย 5 สถานี คือ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย 2. โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางขอนแก่น – หนองคาย คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 ประกอบด้วย 14 สถานี คือ สถานีสำราญ สถานีโนนพยอม สถานีน้ำพอง สถานีเขาสวนกวาง สถานีโนนสะอาด สถานีห้วยเกิ้ง สถานีกุมภวาปี สถานีห้วยสามพาด สถานีหนองตะโก้ สถานีหนองขอนกว้าง สถานีอุดรธานี สถานีนาพู่ สถานีนาทา และสิ้นสุดปลายทางที่สถานีหนองคาย ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบรางและการขนส่ง ตรงตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโลยีราชมงคลอีสานครับ อ.ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ