ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑารพ เพชระบูรณิน สังกัดโครงการจัดตั้งสาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์ระบบและการแพทย์ ชิงคอมพิวเตอร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนงานวิจัย และการบริการวิชาการทางด้านฟีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 นักวิจัยด้านเมตาโบ โลมิกส์จากทั่วโลก ให้ได้รับรางวัล “2024 Metabolomics Society L.M.I.C. Award” จากสมาคมเมตาโบโลมิกส์ ในการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปีครั้งที่ 20 ของสมาคมเมตาโบโลมิกส์ (Metabolomics 2024 Annual Conference) ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
โดยงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑารพ และคณะ ได้รับเลือกให้นำเสนอแบบปากเปล่าในหัวข้อ “Metabolome-Microbiome Dynamics Following Cholangiocarcinoma-derived Fecal Microbiota Transplantation and Oral Bile Reinfusion in Wistar Rat” ซึ่งใช้เทคนิคการปลูกถ่ายไมโครไบโอมในอุจจาระ ของมนุษย์เข้าสู่สัตว์ทดลอง ร่วมกับการใช้วิธีการทางเมตาบอโลมิกส์และไมโครไบโอมิกส์ เพื่อศึกษาการทำงานและกลไกของจุลินทรีย์ในลำไส้จากผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่มีต่อสุขภาพลำไส้ของผู้ป่วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑารพ เพชระบูรณิน ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนงานวิจัยและการบริการวิชาการ ทางด้านฟีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า การศึกษานี้มุ่งเน้นที่จะสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเชิงหน้าที่ในระดับโมเลกุลเกี่ยวกับจุลินทรีย์ในลำไส้ของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี และตรวจสอบผลของการป้อนน้ำดีทางปากต่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจุลภาคในลำไส้ (Gut Microenvironment) ซึ่งหลักฐานหรือข้อค้นพบในระดับโมเลกุลพื้นฐานนี้จะมีคุณค่าสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี และเป็นฐานความรู้สำคัญสำหรับนักวิจัยและนักนวัตกรรมในการพัฒนาความก้าวหน้าทางการแพทย์ในอนาคต
สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปีครั้งที่ 20 ของสมาคมเมตาโบโลมิกส์ (Metabolomics 2024 Annual Conference)ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 800 คนจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยทั่วโลก มีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีให้กับนักวิจัยด้านเมตาโบโลมิกส์ได้พบปะและนำเสนอผลงานของตนผ่านการนำเสนอแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ นอกจากนี้การประชุมยังมุ่งเน้นที่จะสร้างเครือข่ายการวิจัยด้านเมตาโบโลมิกส์ที่เข้มแข็งและมีการหารือเชิงวิชาการเกี่ยวกับงานวิจัยขั้นแนวหน้าระดับโลกในบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นกันเอง หัวข้องานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมแบ่งออกเป็นหลายหัวข้อ ได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การจัดการข้อมูลทางเมตาโบโลมิกส์ สถิติ และชีวสารสนเทศศาสตร์ การศึกษาด้านเมตาโบโลมิกส์ด้านสุขภาพและโรคต่าง ๆ เมตาโบโลมิกส์ของอาหาร พืช และสิ่งแวดล้อมและจุลินทรีย์
ภาพ-ข่าว/เบญจมาภรณ์ มามุข
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ